วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

 จากไมโครซอฟท์วินโดว์สมาสู่อูบุนตูแห่งแอฟริกาใต้ - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

 
 
             เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสได้ไปนำเสนอผลงานวิจัยที่ประเทศแอฟริกาใต้ นึกถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศแอฟริกาใต้ มีสิ่งหนึ่งที่มีน่าสนใจ นั่นก็คือ Ubuntu (อูบุนตู) ถ้าไม่ได้พูดถึงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว อูบุนตู จะหมายถึงหลักปรัชญาของชาวแอฟริกาใต้ที่เน้นการใช้ชีวิตที่ให้คนเห็นใจกันและให้ความเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว หมู่เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่เพื่อนมนุษย์
            แต่พอมาพูดถึงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อูบุนตู จะคือ ระบบปฏิบัติการ (Operating System) หนึ่งที่พัฒนามาจากระบบ Unix (ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ก็เช่น Mac OS X ของค่าย แอปเปิล หรือ วินโดว์สของค่าย ไมโครซอฟท์ นั่นแหละครับ) แต่ อูบุนตู เป็นซอฟต์แวร์เสรีทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถแก้ไขดัดแปลงได้โดยเสรี โดยซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่รวมมาใน อูบุนตู นั้นเป็นซอฟต์แวร์เสรีทั้งหมด โดย อูบุนตู มุ่งเน้นไปที่การเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับคนทั่วไป ที่มีโปรแกรมทันสมัย หลากหลาย และมีเสถียรภาพในระดับที่ยอมรับได้ แต่ทุกอย่างให้เป็นซอฟต์แวร์เสรีให้หมด อูบุนตู ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Canonical Ltd ซึ่งเป็นบริษัทของนักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่ง ชื่อว่า Mark Shuttleworth
        หลายคนอาจจะพอคุ้นข่าวเมื่อปี ค.ศ. 2002 ที่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ที่มีความคิดอยากจะออกไปท่องเที่ยวอวกาศ นั่นแหละครับ คนหนึ่งในกลุ่มนั้น ก็คือ Mark Shuttleworth นั่นเอง โดยถือเป็นชาวแอฟริกันคนแรกที่ได้ขึ้นไปอวกาศ โดยเดินทางไปกับยาน Soyuz TM-34 ของรัสเซีย ซึ่งได้เข้าเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติ Mark Shuttleworth เป็นผู้ใช้ ลินุกซ์ โดยเฉพาะ Debian แต่เขาไม่เพียงแค่เป็นผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป เขาได้เริ่มพัฒนา Linux Distribution ตัวใหม่ที่ชื่อ Ubuntu Linux และตั้งบริษัท Canonical Ltd ซึ่งบริษัทนี้แหละครับ ที่เป็นทีมพัฒนาหลักของ อูบุนตู ที่ผมกล่าวถึง โดยก่อนหน้านี้เขาตั้งบริษัท Thawte ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับใบรับรองดิจิทัลและความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นเขาก็ได้ขายบริษัท Thawte ให้กับ VeriSign ด้วยมูลค่าประมาณ 600 ล้าน USD
        ด้วยความที่ Mark Shuttleworth ต้องการเน้นให้ระบบปฏิบัติการของเขาเน้นหลักซอฟต์แวร์เสรี ทำให้เขาซึ่งเป็นชาวแอฟริกาใต้ ได้ตัดสินใจเลือกหลักปรัชญาของชาวแอฟริกาใต้ที่เน้นการใช้ชีวิตที่ให้คนเห็นใจกันและให้ความเท่าเทียมกับคนอื่น มาเป็นชื่อของระบบปฏิบัติการ ซึ่งก็คือ อูบุนตู นั่นเอง

      อูบุนตู เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004 โดยเริ่มจากการแยกตัวชั่วคราวออกมาทำจากโครงการ Debian GNU/Linux โดยมีคนใช้ประมาณ 20 ล้านคนต่อวัน ซึ่งตัวเลขนี้จะเรียกว่าเยอะก็เยอะ แต่ถ้าเทียบกับทางระบบปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น Mac OS X ของค่าย แอปเปิล หรือ วินโดว์ส ของค่าย ไมโครซอฟท์ นั้นก็ยังถือว่าน้อยกว่ามาก

     ในส่วนข้อดีของ อูบุนตู ก็คงหนีไม่พ้นความเป็นซอฟต์แวร์เสรี ก็เลยได้ข้อดีตรงผู้ใช้งานสามารถใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และด้วยความเป็นซอฟต์แวร์เสรี ก็จะไม่มีไวรัสให้กวนใจ แม้จะมีไวรัสเข้าเครื่องก็ไม่สามารถรันได้ เพราะไม่ใช่ระบบปฏิบัติการ วินโดว์ส เพราะไวรัสส่วนใหญ่ในปัจจุบันเขียนให้รันบนระบบปฏิบัติการ วินโดว์ส และรวมไปถึงความเร็วของการบูตเครื่อง ถือว่าเร็วกว่าของระบบปฏิบัติการค่ายอื่นอยู่มาก เพราะบูตแล้วใช้ได้เลย ไม่ต้องรอโหลดโปรแกรม แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันครับ ก็คือระบบภาษาไทยของอูบุนตู ยังไม่สมบูรณ์แบบในบางโปรแกรมและที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนไทยยังไม่ค่อยหันมาใช้กัน ก็คือความคุ้นเคย
     คนที่เพิ่งหัดใช้อาจจะใช้ไม่ถนัดเหมือนระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ใช้มาจนคล่องมือ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนส่วนใหญ่จะชอบใช้อะไรที่ชิน ถ้าชิน ถ้าติดแล้ว ก็ไม่อยากจะเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น